ผู้ติดตาม

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

แนวทางการพัฒนาคุณภาพการให้บริการของสถานีตำรวจ


        สถานีตำรวจเป็นหน่วยงานที่สำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน และตลอด 7 วันต่อสัปดาห์ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจต่างๆนั้น ต้องสัมผัสกับประชาชนตลอดเวลาในฐานะเป็น “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” จึงอาจกล่าวได้ว่างานตำรวจระดับสถานีตำรวจ คือหัวใจสำคัญและถือว่าเป็นจุดแตกหักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถ้าปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพประชาชนย่อมจะรักและศรัทธา แต่ถ้าการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดี ประสิทธิภาพต่ำ ประชาชนย่อมเสื่อมศรัทธาและสังคมไม่ยอมรับ

         งานของตำรวจในระดับสถานีตำรวจนั้นอาจแบ่งออกเป็นงานด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม  การสืบสวน การสอบสวนดำเนินคดี งานจราจร งานอำนวยการและบริหารจัดการ ซึ่งลักษณะของการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ โดยรวมแล้วก็คือเรื่อง “การให้บริการประชาชน” นั่นเอง สภาพปัญหาทุกวันนี้การปฏิบัติงานของตำรวจมักจะถูกตำหนิจาก    พี่น้องประชาชน สื่อมวลชน   และไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากสังคมเท่าที่ควร จนถึงขนาดมีการพูดกันในกลุ่มของบุคคลทั่วไป รวมทั้ง  ในกลุ่มของข้าราชการตำรวจด้วยกันเองว่า ตำรวจนั้น “ต้นทุนทางสังคมต่ำ” ซึ่งปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในแต่ละสถานีตำรวจ โดยเฉพาะเรื่องการให้บริการประชาชน ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนที่มาติดต่อราชการที่สถานีตำรวจนั้น ย่อมมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจในเรื่องต่างๆ และคาดหวังว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องช่วยเหลือขจัดปัดเป่าความทุกข์ร้อนนั้นได้ แต่ในความเป็นจริงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนขาดจิตสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ประชาชนผิดหวังและเสื่อมศรัทธา เป็นเหตุให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของตำรวจและรวมตลอดทั้งองค์กรของตำรวจ

แนวทางการแก้ไขปัญหา

          พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ได้กำหนดแนวทางในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐทุกหน่วย ให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวก และได้รับการตอบสนองความต้องการ ซึ่งได้แก่ การปฏิบัติราชการที่มุ่งเน้นความต้องการและความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการเป็นหลัก

          จากปัญหาเรื่องการให้บริการประชาชนในหน้าที่ของตำรวจโดยเฉพาะหน่วยงานระดับสถานีตำรวจต่างๆ นั้น  หัวหน้าหน่วยงานหรือหัวหน้าสถานีตำรวจ จะต้องมีความมุ่งมั่นและใส่ใจต่อการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนด้วยความจริงใจ  ขณะเดียวกันผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นต้องควบคุมกำกับการดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด รวมตลอดทั้งข้าราชการตำรวจทุกคนต้องมีใจรักงานด้านการบริการ (Service Mind)

          ดังนั้นเพื่อเป็นการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงขอเสนอรูปแบบและแนวทางการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนในระดับสถานีตำรวจ โดยหากเปรียบหน่วยงานของตำรวจเสมือนบ้าน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือบ้านหลังใหญ่สุด นอกจากนี้ยังมีบ้านขนาดกลางๆ แบ่งออกไปตามกองบัญชาการหรือตำรวจภูธรภาค ตำรวจภูธรจังหวัดต่างๆ  และบ้านหลังเล็กสุดคือ   สถานีตำรวจที่อยู่ในพื้นที่  บ้านหรือสถานีตำรวจแต่ละหลัง    จะมีหัวหน้าหน่วยหรือ    หัวหน้าสถานีตำรวจทำหน้าที่เป็นพ่อบ้าน เป็นผู้นำหรือผู้บังคับบัญชาสูงสุด ลูกบ้านหรือคนในบ้านก็คือข้าราชการตำรวจ ซึ่งจะมีไม่เท่ากัน บ้านหรือสถานีตำรวจบางแห่งมีลูกบ้าน จำนวน 30 คน, 70 คน, 100 คน จนถึง    300 คน ขึ้นอยู่กับขนาดของสถานีตำรวจ บ้านหรือสถานีตำรวจแต่ละหลังอาจแยกองค์ประกอบออกได้ดังนี้คือ


โมเดล: Police’s House การพัฒนาคุณภาพการให้บริการของสถานีตำรวจ
1.  พื้นบ้าน
          หากเปรียบตำรวจในบ้านแต่ละหลังเหมือนพื้นบ้าน หัวหน้าหน่วยจะต้องพัฒนาตำรวจให้เป็นตำรวจที่มีฝีมือในการทำงาน (Hand) อย่างมืออาชีพ ต้องทำงานโดยใช้หัวหรือสมอง (Head) คือ มีความรู้ความสามารถ และต้องทำงานด้วยใจ (Heart) ซึ่งการจะทำให้พื้นบ้านหรือตำรวจมีความมั่นคงแข็งแรงไม่สั่นคลอน พื้นบ้านต้องตั้งอยู่บนตอม่อ

2.  ตอม่อ
          คือฐานรากที่สำคัญของตัวบ้าน จะทำให้พื้นบ้านมั่นคงแข็งแรงและรับน้ำหนักตัวบ้านไม่ให้พังลงมา หัวหน้าหน่วยต้องมีการเตรียมการเพื่อเสริมสร้างความมั่งคงให้กับพื้นบ้านหรือตำรวจในเรื่องต่างๆ เช่น การพัฒนาองค์ความรู้(Knowledge management) การจัดเตรียมงบประมาณการเงิน วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการปฏิบัติงาน การดูแลสวัสดิการด้านต่างๆ การสร้างขวัญกำลังใจ รวมตลอดทั้งการสร้างการยอมรับในตัวข้าราชการตำรวจที่เป็นลูกบ้าน เพื่อให้ตำรวจมีเกียรติ มีความรู้สึกภาคภูมิใจในอาชีพ และมีความพร้อมที่จะออกไปปฏิบัติหน้าที่

3.  เสาบ้าน 
          เสาบ้าน ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของบ้านเช่นเดียวกัน งานด้านต่างๆ ในสถานีตำรวจคือเสาหลักของตัวบ้าน      หัวหน้าหน่วยจะต้องจัดสรรกำลังตำรวจที่มีอยู่ในแต่ละสถานี ออกไปปฏิบัติหน้าที่ในงานด้านต่างๆ เช่น งานด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม งานสืบสวนจับกุมคนร้าย งานอำนวยความยุติธรรมหรือสอบสวน  งานจราจร งานอำนวยการและงานบริการด้านต่างๆ  โดยตำรวจที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะต้องผ่านการฝึกอบรมให้ความรู้จนสามารถออกไปปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.  คาน(ขื่อ)หลังคา
          เป็นส่วนที่ใช้ยึดหลังคาไว้กับตัวบ้าน เปรียบเสมือนคุณภาพการให้บริการของตำรวจ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญและเป็นหัวใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ เพราะงานด้านต่างๆ ในสถานีตำรวจโดยรวมแล้วก็คือ การให้บริการประชาชน ซึ่งจะต้องคำนึงถึงเรื่องคุณภาพการให้บริการเป็นอันดับแรก หัวหน้าหน่วยจะต้องให้ความสนใจ โดยจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

5.  หลังคา
          ถือว่าเป็นส่วนที่สูงสุดของตัวบ้าน หรือเป็นเป้าหมายหรือจุดหมายสำคัญที่สุดของสถานีตำรวจนั่นก็คือ การให้บริการที่ดี มีมาตรฐาน การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในฐานะเป็นผู้ให้บริการและประชาชนในฐานะผู้รับบริการ ต้องคำนึงถึงความพึงพอใจของประชาชนเป็นสำคัญ หัวหน้าหน่วย จะต้องมีการสำรวจความต้องการของประชาชนและความพึงพอใจของผู้รับบริการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงการปฏิบัติราชการต่อไป


ปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้การบริการไม่มีคุณภาพ





โมเดล: ช่องว่าง (Gap) ที่เป็นสาเหตุทำให้การบริการไม่มีคุณภาพ
           ปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้การส่งมอบการบริการไม่มีคุณภาพตามที่กำหนดไว้ อาจจะมาจากหลายๆ ปัจจัย แต่มีปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็คือเรื่องของ ช่องวาง (Gap) อันเป็นสาเหตุที่ทำให้การบริการไม่เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง ประชาชนที่มาติดต่อราชการที่สถานีตำรวจไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย ผู้ต้องหา พยานหรือติดต่อราชการอื่นๆ ก็ตามต่างก็มีความคาดหวังไว้ว่าจะต้องได้รับการบริการที่ดี โดยแต่ละคนอาจจะมีข้อมูลความคาดหวังที่จะได้รับการบริการมาบ้าง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจจะมาจากคำพูดปากต่อปาก จากความต้องการส่วนตัว หรือจากประสบการณ์ของตนเองที่ได้รับมาในอดีตก็ตาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็คือ เรื่องการให้บริการตามความคาดหวังของประชาชน ซึ่งถ้าตำรวจให้บริการที่ตรงหรือเหนือกว่าความคาดหวังของประชาชน ผลที่ได้รับคือความพึงพอใจของประชาชน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การให้บริการของตำรวจในระดับสถานีตำรวจไม่ตรงกับความคาดหวังของประชาชน ทำให้เกิดช่องว่าง (Gap) ระหว่างความคาดหวังของประชาชน กับการให้บริการของตำรวจ อันทำให้เกิดความไม่พึงพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ     

          สำหรับ ช่องว่าง (Gap) ที่เป็นสาเหตุทำให้การบริการไม่มีคุณภาพ หรือไม่ตรงกับความคาดหวังของประชาชน มีหลายสาเหตุซึ่งในแต่ละสาเหตุมีแนวทางแก้ไขปัญหาดังนี้

          ช่องว่างที่ 1  เป็นช่องว่างระหว่างความคาดหวังของประชาชนผู้ใช้บริการ และการรับรู้ของหัวหน้าสถานีตำรวจ สาเหตุมาจากหัวหน้าสถานีตำรวจ อาจไม่เข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน เพราะมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ทำให้การปฏิบัติงานไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน
         แนวทางแก้ไขปัญหา หัวหน้าสถานีตำรวจ ต้องค้นหาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความต้องการของประชาชนโดยอาจทำการวิจัย การสำรวจข้อมูลต่าๆ การรับข้อร้องเรียน หรือการติดต่อกับประชาชนโดยตรงเพื่อให้ทราบความต้องการที่แท้จริง รวมทั้งการปรับปรุงการติดต่อสื่อสารภายในองค์การเพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการติดต่อ ตัวอย่างโครงการที่สำคัญๆ ได้แก่ โครงการเคาะประตูบ้านตรวจเยี่ยมประชาขน (Knock Door) โครงการตู้รับคำร้องเรียน เป็นต้น

          ช่องว่างที่ 2  เป็นช่องว่างเรื่องของมาตรฐานการทำงานหรือคุณภาพของการบริการที่กำหนดขึ้นไม่ตรงกับความคาดหวังของประชาชนตามการรับรู้ของหัวหน้าสถานี สาเหตุมาจากหัวหน้าสถานีอาจทราบหรือเข้าใจถึงความคาดหวังของประชาชน แต่ไม่มีการกำหนดมาตรฐาน หรือหลักเกณฑ์ในการทำงานที่ชัดเจน รวมทั้งกรณีที่หัวหน้าสถานีไม่ได้ให้การสนับสนุนอย่างเพียงพอในเรื่องคุณภาพการให้บริการ
         แนวทางแก้ไขปัญหา หัวหน้าสถานีตำรวจต้องเอาใจใส่ในเรื่องคุณภาพการให้บริการอย่างจริงจัง ต้องมีการฝึกอบรมหัวหน้าสถานีตำรวจในการควบคุมและสั่งการ มีการวัดประเมินผลการทำงานและต้องแจ้งให้ตำรวจผู้ปฏิบัติทราบ ควรมีการปรับปรุงการทำงานโดยใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการทำงาน

         ช่องว่างที่ 3  เป็นช่องว่างเรื่องการส่งมอบบริการหรือการให้บริการไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ช่องว่างนี้จะเกี่ยวข้องกับวิธีการและการปฏิบัติงานที่ไม่มีคุณภาพ รวมตลอดทั้งแนวคิด เทคนิคและทักษะในการให้บริการยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เช่น การปฏิบัติงานที่ล่าช้า พูดจาไม่สุภาพ ไม่ให้เกียรติประชาชน           
         แนวทางแก้ไขปัญหา หัวหน้าสถานีตำรวจจะต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ของตำรวจที่ชัดเจน ต้องคัดเลือกบุคคลที่มีใจรักงานด้านการบริการ และมีการอบรมในเรื่องการต้อนรับและการให้บริการที่ดี สร้างแรงจูงใจ และสร้างระบบการทำงานเป็นทีม

          ช่องว่างที่ 4  เป็นช่องว่างเรื่องการให้บริการหรือส่งมอบการบริการไม่ตรงกับที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน ช่องว่างนี้เป็นการคาดหวังของประชาชนที่ควรจะได้รับการบริการตามที่องค์กรได้ประชาสัมพันธ์ออกมา แต่เมื่อมารับบริการกลับทำให้ประชาชนไม่ได้รับการบริการอย่างที่คาดหวังไว้ (กรณีพันธะสัญญา)   
          แนวทางแก้ไขปัญหา ตำรวจฝ่ายปฏิบัติงานต้องทราบหรือมีส่วนร่วมในการวางแผนการประชาสัมพันธ์    มีการสร้างระบบการประสานงานที่ดีในองค์กร มีการควบคุมการให้บริการเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงการสร้างความคาดหวังที่ถูกต้องให้กับประชาชน โดยการให้ข้อมูลที่เป็นจริง

          ช่องว่างที่ 5 เป็นช่องว่างเรื่องการบริการที่ประชาชนได้รับ ไม่ตรงกับการบริการที่ประชาชนคาดหวัง เป็นผลรวมมาจากช่องว่างที่ 1 ถึงช่องว่างที่ 4 ตัวอย่างเช่น การที่ตำรวจออกตรวจเยี่ยมประชาชน แต่ประชาชนเข้าใจว่าตำรวจมาจับผิด
          แนวทางแก้ไขปัญหา หัวหน้าสถานีตำรวจ ต้องพยายามป้องกันและแก้ไขความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในช่องว่างที่ 1 ถึงช่องว่างที่ 4 ต้องพยายามพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของงานบริการอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะทำการส่งมอบให้ประชาช

          สรุป การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจประจำสถานีตำรวจในแต่ละพื้นที่นั้น ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของงานตำรวจ ที่จะเสริมสร้างความเชื่อมั่น ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อตำรวจได้เป็นอย่างดี หากตำรวจสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนได้มากเท่าไร สังคมย่อมยอมรับตำรวจมากขึ้น ต้นทุนทางสังคมของอาชีพตำรวจย่อมจะต้องสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน


วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก
โดย
ทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม
(Proactive Crime Prevention By Crime Triangle Theory)



เรียบเรียงโดย
พันตำรวจเอก วิสูตร  ฉัตรชัยเดช
รองผู้บังคับการ ตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี


         
          สถานการณ์ของโลกในยุคปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การเปลี่ยนแปลงและความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาหลายประการ เช่น ปัญหาสังคม ปัญหาแรงงาน ปัญหายาเสพติดและปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอาชญากรรมมีแนวโน้มสูงมากขึ้น ดังนั้น การทำงานของตำรวจในยุคปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในสภาวะขาดแคลนด้านกำลังพล และอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ จึงต้องพยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ โดยมุ่งเน้นก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
          การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายหรือผลสำเร็จได้นั้นตำรวจจะต้องรู้จักการกำหนดยุทธศาสตร์หรือกลยุทธในการแก้ไขปัญหาให้ “ถูกจุดและตรงประเด็น"ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้เสนอแนะแนวทางการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก โดยใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม โดยมีหลักปรัชญาที่ว่า “สร้างความหวาดกลัวให้กับคนร้าย และสร้างความอบอุ่นใจให้กับคนดี” เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้การทำงานจะประสบผลสำเร็จได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดการที่ดี  มีการบูรณาการทั้งด้านกำลังพล เครื่องมือเครื่องใช้ มีการประสานงานกับเครือข่ายต่างๆ ทุกภาคส่วนในแต่ละพื้นที่ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          “การจับผู้ร้ายนั้นไม่ถือเป็นความชอบ เป็นแต่นับว่าผู้นั้นได้กระทำการครบถ้วนแก่หน้าที่นั้น แต่จะถือเป็นความชอบต่อเมื่อได้ปกครองป้องกันเหตุร้ายให้ชีวิตและทรัพย์สมบัติของข้าแผ่นดินในท้องที่นั้น อยู่เย็นเป็นสุขพอสมควร”
          จากพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่าเป็นการวางรากฐานหรือหลักการทำงานในด้านการป้องกันอาชญากรรม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและตำรวจทุกคนควรน้อมนำมาปฏิบัติ คือการมุ่งเน้นการป้องกันอาชญากรรม (Crime Prevention) ก่อนเกิดเหตุ     
          ปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกค่อนข้างรวดเร็วและรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม เทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านสังคม ด้านแรงงาน ยาเสพติดให้โทษ และปัญหาอาชญากรรมที่มีแนวโน้มสูงมากขึ้น จึงถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญของตำรวจที่ปฏิบัติงานในแต่ละพื้นที่ ต้องพยายามทุ่มเทแรงกายและใจ ในการแก้ปัญหาอาชญากรรมดังกล่าว โดยจะต้องมุ่งเน้นการปฏิบัติงานในเชิงรุก (Proactive)
          การป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก (Proactive Crime Prevention) ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจยุคปัจจุบัน โดยเบื้องต้นตำรวจต้องมีข้อมูล (Data) ที่จะใช้ในการวิเคราะห์สภาพปัญหาอาชญากรรม (Crime Analysis) ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ข้อมูลนั้นอาจจะมาจากคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่พนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้แล้ว คดีที่เกิดขึ้นแต่ยังไม่ได้รับคำร้องทุกข์หรือข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากการร้องเรียนของประชาชน สื่อมวลชนเป็นต้น เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวแล้ว จะทำให้ทราบถึง ช่วงเวลา (Time) สถานที่ที่เกิดเหตุ (Place) พฤติกรรมของคนร้าย ตลอดจนสภาพปัญหาและสาเหตุของการเกิดอาชญากรรม อันจะนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดกลยุทธ์การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมต่อไป
          ในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมนั้น มีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องมากมาย แต่ในที่นี้จะขอนำเสนอ “ทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม (Crime Triangle Theory)” ซึ่งเป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงสาเหตุหรือองค์ประกอบของการเกิดอาชญากรรม ได้อย่างชัดเจน เข้าใจง่าย และเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกระดับ สามารถนำเอาแนวคิดจากทฤษฎีดังกล่าวไปกำหนดยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่ ทั้งด้านการป้องกันและการปราบปรามอาชญากรรม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม เหมาะกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง
          ทฤษฎีสามเหลี่ยอาชญากรรม (Crime Triangle Theory)   ได้อธิบายถึงสาเหตุหรือองค์ประกอบของการเกิดอาชญากรรม ประกอบด้วยด้านต่าง ๆ ของสามเหลี่ยม 3 ด้าน คือ
          1. ผู้กระทำผิด/คนร้าย (Offender) หมายถึง ผู้ที่มีความต้องการ (Desire) จะก่อเหตุหรือลงมือกระทำความผิด
          2. เหยื่อ (Victim)/เป้าหมาย (Target) หมายถึง บุคคล สถานที่ หรือวัตถุสิ่งของ ที่ผู้กระทำผิดหรือคนร้าย มุ่งหมายกระทำต่อ หรือเป็นเป้าหมายที่ต้องการ
          3. โอกาส (Opportunity) หมายถึง ช่วงเวลา (Time) และสถานที่ (Place) ที่เหมาะสมที่ผู้กระทำผิดหรือคนร้าย มีความสามารถจะลงมือกระทำความผิดหรือก่ออาชญากรรม        
          เมื่อเหตุการณ์หรือสถานการณ์ครบองค์ประกอบทั้ง 3 ด้าน ดังกล่าวข้างต้น จะทำให้เกิดอาชญากรรมขึ้น ทฤษฏีดังกล่าวได้เสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม หรือการป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรม โดยต้องพยายามทำอย่างไรก็ตามที่จะให้องค์ประกอบของสามเหลี่ยมอาชญากรรม ด้านใดด้านหนึ่งหายไป ก็จะทำให้อาชญากรรมไม่เกิดขึ้น ดังนั้นในการปฏิบัติงานของตำรวจในแต่ละพื้นที่ ควรนำแนวคิดของทฤษฎีดังกล่าวมาใช้ในการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก ตามยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวคือ ต้องพยายามทำให้องค์ประกอบการเกิดอาชญากรรม ด้านใดด้านหนึ่งของสามเหลี่ยมหายไป โดยมีวิธีการในการดำเนินการ ดังต่อไปนี้คือ
          1. ด้านผู้กระทำผิดหรือคนร้าย (Offender)
            ต้องพยายามลดหรือควบคุมจำนวนผู้กระทำความผิดหรือคนร้ายในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยมุ่งเน้นใช้ทฤษฎีบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement Theory) เช่น การเฝ้าระวังบุคคลพ้นโทษที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ การกำหนดมาตรการควบคุมแหล่งอบายมุขหรือสถานบริการที่จะเป็นแหล่งเพาะอาชญากรรม การระดมกวาดล้างอาชญากรรมอย่างสม่ำเสมอ การจับกุมผู้กระทำความผิดตามหมายจับ การสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับแหล่งซ่องสุมของผู้กระทำความผิดหรือคนร้าย มาตรการตีวงสุรา การปิดล้อมตรวจค้น การไประงับเหตุอย่างรวดเร็วของสายตรวจ เพื่อให้สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดหรือคนร้ายได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรม  ยาเสพติดให้โทษ และปัญหาการว่างงาน เป็นต้น  
          2. ด้านเหยื่อ (Victim)/เป้าหมาย (Target)
             ผู้เสียหาย หรือเหยื่อ หรือประชาชนทั่วไป ต้องรู้จักการป้องกันตนเอง ครอบครัว และชุมชนหรือสังคม ตำรวจจะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการป้องกันอาชญากรรม หรือไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม เช่น การแต่งตัว การใส่เครื่องประดับหรือของที่มีค่า การหลอกลวงของคนร้ายในลักษณะต่างๆ โดยอาจจะจัดเป็นโครงการตำรวจเตือนภัย โครงการตรวจเยี่ยมประชาชน(Knock Door) หรือโครงการครู D.A.R.E เป็นต้น
          3. ด้านโอกาส (Opportunity)
             โอกาสที่ผู้กระทำความผิดหรือคนร้ายจะลงมือก่ออาชญากรรมนั้นจะต้องอาศัย เวลาและสถานที่ที่เหมาะสมในการก่อเหตุ ตำรวจต้องพยายามหาวิธีการเพื่อที่จะตัดช่องโอกาสของคนร้ายดังกล่าว โดยแยกออกเป็น
             1) เวลา ต้องพยายามตัดช่องโอกาสในเรื่องเวลาที่จะเกิดเหตุ โดยมุ่งเน้นการปรากฎตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ (Show off Force) การตั้งจุดตรวจค้น เป็นต้น
             2) สถานที่ สำหรับเรื่องการตัดช่องโอกาสในเรื่องสถานที่นั้น สามารถกระทำได้หลายวิธีและมีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องมากมาย เช่น ทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรมจากสภาพแวดล้อม (Crime Control Through Environmental Design) เป็นวิธีการปรับสภาพแวดล้อมและใช้ประโยชน์สภาพแวดล้อม ในการลดโอกาสการก่ออาชญากรรม เช่น การสร้างรั้วหรือสิ่งกีดขวางมิให้ผู้กระทำผิดเข้าถึงบริเวณสิ่งของ หรือบุคคล โดยเพิ่มความเสี่ยงที่คนร้ายจะถูกตรวจพบหรือถูกจับกุมมากยิ่งขึ้น หรือการจัดระเบียบพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะเกิดอาชญากรรม    (พื้นที่เสี่ยง) ตามหลักทฤษฎีหน้าต่างแตก (Broken Windows Theory) โดยจะต้องรีบเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาก่อนที่จะเกิดอาชญากรรมในพื้นที่ดังกล่าว การจัดการพื้นที่ให้ปลอดภัยตาม โครงการพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) หรือโครงการเพื่อนบ้านเตือนภัย (Neighborhood Watch) รวมตลอดถึงการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือเครื่องใช้ทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) การใช้สัญญาณเตือนภัย ทั้งนี้ตำรวจจะต้องเข้าไปจัดการ ให้มีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชนเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ตามโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing) โดยมุ่งเน้นการสร้างชุมชนเข้มแข็งเพื่อให้ชุมชนสามารถดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
          การป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก โดยการทำให้องค์ประกอบของการเกิดอาชญากรรม ด้านใดด้านหนึ่งของสามเหลี่ยมหายไป ตามหลักการของทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น   จะทำให้การปฏิบัติงานของตำรวจมีเป้าหมายที่ชัดเจน เข้าใจง่ายและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น จึงเห็นควรที่ผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้าหน่วยงาน ควรนำแนวคิดการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกโดยใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม ชี้แจงทำความเข้าใจกับตำรวจ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่แก้ไขปัญหาอาชญากรรม ได้บรรลุเป้าหมาย เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างความพึงพอใจแก่พี่น้องประชาชนทั่วไป
          สำหรับมาตรการในการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก โดยสรุปอาจแบ่งออกเป็น 5 มาตรการ ดังนี้คือ
          1. โดยตำรวจ หมายถึงการป้องกันอาชญากรรมในหน้าที่ของตำรวจ เช่น การจัดสายตรวจออกตรวจ การตั้งจุดตรวจค้น
          2. โดยเจ้าของพื้นที่ หมายถึง เจ้าของพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ต้องให้ความสนใจในการป้องกันอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้น ในพื้นที่ของตนเอง เช่น ห้างสรรพสินค้า หมู่บ้าน สถานที่ทำงาน หน่วยราชการต่างๆ เป็นต้น
          3. โดยผู้ใช้พื้นที่ หมายถึง ประชาชนโดยทั่วไปที่เข้าไปใช้พื้นที่ต่างๆ จะต้องรู้จักระมัดระวังในการป้องกันตนเอง เช่น การแต่งตัว การประดับของมีค่าติดตัว
          4. โดยหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หมายถึง หน่วยงานราชการ หรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอาชญากรรม เช่น องค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง เป็นต้น
          5. โดยใช้เทคโนโลยี หมายถึง การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อช่วยในการป้องกันอาชญากรรม เช่น กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) สัญญาณเตือนภัย

บทสรุป

          การป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกโดยใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน
          ขั้นตอนที่ 1  การวิเคราะห์สถานภาพอาชญากรรม
          ขั้นตอนที่ 2  การป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกโดยใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม
          ขั้นตอนที่ 3  การประเมินผล

โดยยึดหลักปรัชญาที่ว่า
“ สร้างความหวาดกลัวให้กับคนร้าย สร้างความอบอุ่นใจให้กับคนดี”

          ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์สถานภาพอาชญากรรม (Crime Analysis) โดยนำข้อมูลที่รวบรวมไว้ มาวิเคราะห์เพื่อให้ทราบ ช่วงเวลา (Time) สถานที่ที่เกิดเหตุ (Place) โดยเฉพาะแหล่งที่เกิดอาชญากรรมหนาแน่น (Hot spot) ตลอดจนพฤติกรรมของคนร้าย สภาพปัญหาและสาเหตุของการเกิดอาชญากรรม
          สำหรับข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์นั้น ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงให้มากที่สุด ซึ่งจะประกอบไปด้วยข้อมูลคดีที่เกิดขึ้นและพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้ คดีที่ยังไม่ได้รับคำร้องทุกข์ ข้อมูลการร้องเรียนจากประชาชน สื่อมวลชนต่างๆ เป็นต้น


          ขั้นตอนที่ 2 การป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกโดยใช้หลักการของทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม
          สำหรับขั้นตอนนี้ หัวหน้าสถานีตำรวจควรใช้เทคนิคการระดมสมอง (Brainstorming) เพื่อร่วมคิด ร่วมวางแผน และกำหนดแนวทางการปฏิบัติ โดยสร้างความเข้าใจกับตำรวจทุกฝ่ายในหน่วยงาน    ให้มีความพร้อม และเต็มใจที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

          การจัดทำโครงการ กิจกรรม หรือมาตรการต่างๆ ต้องให้ปรากฎรายละเอียดอย่างเป็นรูปธรรม กำหนดระยะเวลาการปฏิบัติ และผู้รับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน ประการสำคัญคือ ต้องมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง มีการรายงานผลการปฏิบัติ และถ่ายภาพประกอบ

          โครงการ กิจกรรม หรือมาตรการต่างๆ ควรดำเนินการให้ครบทั้ง 3 ด้าน คือ คนร้าย การตัดช่องโอกาส และผู้เสียหาย หรือเหยื่อโดยดำเนินการควบคู่กันไป ทั้งนี้ให้เหมาะสมกับสถานภาพอาชญากรรมและสภาพพื้นที่ ตามที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลไว้แล้ว


          ขั้นตอนที่ 3  การประเมินผล
          จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยอาจจะดูจากสถิติคดีอาญาเปรียบเทียบ ตัวชี้วัดตาม   คำรับรองการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ก.พ.ร.) สุดท้ายคือการวัดผลลัพท์ในเรื่องของความรู้สึกหวาดกลัวภัยอาชญากรรม และความพึงพอใจของประชาชน